วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence)

การพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence) ได้แก่ ความเข้าใจตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันของผู้คน ถิ่นฐาน เศรษฐกิจ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เข้าใจสภาวการณ์ในระดับโลก สามารถเรียนรู้ที่จะจัดการกับความซับซ้อนได้

การพึ่งพากัน

การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของประเทศต่างๆในด้านการรวมตัวเป็นองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจก็ เนื่องมาจากความมั่นคงและสวัสดิการของประเทศ ซึ่งการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วในภาวะเศรษฐกิจที่มีการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และเน้นภาคธุรกิจหรือ ผลผลิตทางภาคอุตสาหกรรม ยิ่งกว่านั้น เมื่อกระบวนการผลิตใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ย่อมทำให้ สินค้าและบริการออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบการค้า มักจะถือกันว่าเป็นรูปแบบ ของกระบวนการ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ อัตราส่วนของการค้าต่อผลิตภัณฑ์ มวลรวมประชาชาติ ขยายตัวมากขึ้นย่อมหมายถึงประเทศนั้น มีการพึ่งพิงระบบการค้า ระหว่างประเทศมากขึ้นด้วย ทำให้การเจริญเติบโตของประเทศต้องอาศัยการพึ่งพากันทางการค้า และการลงทุน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ

ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยน เทคโนโลยีและทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศสมาชิกในองค์กรได้รับผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆได้ เช่น ความร่วมมือกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว และได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มในด้าน การพึ่งพาอาศัยกัน เช่น แต่ละประเทศจะผลิตสินค้าหรือใช้ปัจจัยการผลิตที่ประเทศตนเอง สามารถผลิตได้ กล่าวคือ ประเทศไทยผลิตเกลือหินและโซดาแอช อินโดนีเซียและ มาเลเซียผลิตปุ๋ยยูเรีย สิงคโปร์ผลิตเครื่องยนต์ดีเซล และฟิลิปปินส์ผลิตปุ๋ยฟอสเฟต ซึ่งแต่ละประเทศมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้ส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศได้มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้นด้วย ดังนั้นการพึ่งพาอาศัยกันในรูปของการร่วมมือทางเศรษฐกิจ ของแต่ละประเทศ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่าง จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และองค์กรที่มีความเข้มแข็งสามารถต่อรองทางการค้ากับประเทศต่างๆได้

การอยู่ร่วมกันในสังคม
 
การอยู่ร่วมกันในชุมชนดั้งเดิมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องไม่กี่ตระกูล ซึ่งได้อพยพ ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ หรือสืบทอดบรรพบุรุษจนนับญาติกันได้ทั้งชุมชน มีคนเฒ่าคนแก่ที่ชาวบ้าน เคารพนับถือเป็นผู้นำ หน้าที่ของผู้นำไม่ใช่การ สั่ง แต่เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา มีความแม่นยำในกฏระเบียบประเพณีการดำเนินชีวิต ตัดสินไกล่เกลี่ยหากเกิดความขัดแย้ง ช่วยกันแก้ไข ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น"ผิดผี" คือ ผีของบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้สร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้ เช่น กรณีที่ชายหนุ่มถูกเนื้อ ต้องตัวหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน เป็นต้น หากเกิด การผิดผีขึ้นมา ก็ต้องมีพิธีกรรมขอขมา โดยมี คนเฒ่าคนแก่เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ มีการ ว่ากล่าวสั่งสอนและชดเชยการทำผิดนั้นตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้

ชาวบ้านอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยามเกิดอุบัติเหตุเภทภัย ยามที่โจร ขโมยวัวควายข้าวของ การช่วยเหลือกันทำงาน ที่เรียกกันว่า การลงแขก ทั้งแรงกายแรงใจ ที่มีอยู่ก็จะแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน การ แลกเปลี่ยนสิ่งของ อาหารการกิน และอื่น ๆ จึงเกี่ยวข้องกับวิถีของชุมชน ชาวบ้านช่วยกัน เก็บเกี่ยวข้าว สร้างบ้าน หรืองานอื่นที่ต้องการ คนมาก ๆ เพื่อจะได้เสร็จโดยเร็ว ไม่มีการจ้าง กรณีตัวอย่างจากการปลูกข้าวของชาวบ้านถ้าปีหนึ่งชาวนาปลูกข้าวได้ผลดี ผลิตผลที่ได้จะ ใช้เพื่อการบริโภคในครอบครัว ทำบุญที่วัด เผื่อแผ่ให้พี่น้องที่ขาดแคลน แลกของ และเก็บ ไว้เผื่อว่าปีหน้าฝนอาจแล้ง น้ำอาจท่วม ผลิตผลอาจไม่ดี


ในชุมชนต่าง ๆ จะมีผู้มีความรู้ความสามารถหลากหลาย บางคนเก่งทางการรักษาโรค บางคนทางการเพาะปลูกพืช บางคนทางการเลี้ยง สัตว์ บางคนทางด้านดนตรีการละเล่น บางคน เก่งทางด้านพิธีกรรม คนเหล่านี้ต่างก็ใช้ความ


สามารถเพื่อประโยชน์ของชุมชน โดยไม่ถือเป็น อาชีพที่มีค่าตอบแทน อย่างมากก็มี "ค่าครู"แต่เพียงเล็กน้อย ซึ่งปกติแล้ว เงินจำนวนนั้น ก็ใช้สำหรับเครื่องมือประกอบพิธีกรรม หรือ เพื่อทำบุญที่วัดมากกว่าที่หมอยาหรือบุคคลผู้นั้น


จะเก็บไว้ใช้เอง เพราะแท้ที่จริงแล้ว "วิชา" ที่ ครูถ่ายทอดมาให้แก่ลูกศิษย์จะต้องนำไปใช้เพื่อ ประโยชน์แก่สังคม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วน ตัว การตอบแทนจึงไม่ใช่เงินหรือสิ่งของเสมอไป แต่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยวิธีการต่าง ๆ


ด้วยวิถีชีวิตเช่นนี้ จึงมีคำถามเพื่อเป็นการ สอนคนรุ่นหลังว่า ถ้าหากคนหนึ่งจับปลาช่อน ตัวใหญ่ได้หนึ่งตัว ทำอย่างไรจึงจะกินได้ทั้งปี คนสมัยนี้อาจจะบอกว่า ทำปลาเค็ม ปลาร้า หรือ เก็บรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่คำตอบที่ถูกต้อง คือ แบ่งปันให้พี่น้องเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อ เขาได้ปลา เขาก็จะทำกับเราเช่นเดียวกัน
ชีวิตทางสังคมของหมู่บ้านมีศูนย์กลางอยู่ที่วัด กิจกรรมของส่วนรวมจะทำกันที่วัด งานบุญประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนการละเล่นมหรสพ พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจ เป็นครูที่สอนลูก หลานผู้ชายซึ่งไปรับใช้พระสงฆ์ หรือ "บวชเรียน"


ทั้งนี้เพราะก่อนนี้ยังไม่มีโรงเรียน วัดจึงเป็นทั้งโรงเรียนและหอประชุมเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ต่อเมื่อโรงเรียนมีขึ้นและแยกออกจากวัด บทบาท ของวัดและของพระสงฆ์จึงเปลี่ยนไป
งานบุญประเพณีในชุมชนแต่ก่อนมีอยู่ทุก เดือน ต่อมาก็ลดลงไปหรือสองสามหมู่บ้านร่วมกันจัด หรือผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน เช่น งานเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นงานใหญ่ หมู่บ้าน เล็ก ๆ ไม่อาจจะจัดได้ทุกปี งานเหล่านี้มีทั้งความเชื่อ พิธีกรรมและความสนุกสนาน ซึ่งชุมชน แสดงออกร่วมกัน

การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)


การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หมายถึง “การตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่มีผลกระทบในทางลบต่อความต้องการของคนรุ่นต่อไปในอนาคต”

เนื่องจากทุกครั้งที่มีการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน ต้องมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบต่ออนาคต การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นแนวคิดในการแก้ปัญหานี้ โดยการพยายามอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ในลักษณะที่เป็นส่วนรวมหรือมหภาค คือ หากมีความจำเป็นที่จะดำเนินการให้กระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในที่ใดที่หนึ่ง ก็จะต้องเสริมสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมในที่อื่นๆ เป็นการชดเชยเพื่อให้ในแง่มหภาคของคุณภาพสิ่งแวดล้อมคงอยู่ได้ดังเดิม


การพัฒนาที่ยั่งยืน: การพัฒนายุคโลกาภิวัตน์

กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และกลไกการตลาด ก่อให้เกิดการเติบโต การผลิต การบริโภคที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณ ดังนั้น การที่มนุษย์ยังคงใช้แนวทางพัฒนาแบบเก่าซึ่งไม่คำนึงถึงข้อจำกัดในการพัฒนา อันหมายถึง ข้อจำกัดด้านสภาพ ความสามารถที่จะรองรับการบริโภค และการใช้ประโยชน์จากโลก และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่จะนำมาบริโภค และใช้ประโยชน์หมดลง อีกไม่นานทุกชีวิตบนโลกจะต้องจบสิ้น เพราะมนุษย์จะไม่สามารถอาศัยอยู่บนโลกได้อีกต่อไป การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นแนวคิดเพื่อป้องกันมิให้โลกต้องเดินไปสู่จุดจบ

มาตรการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ความล้มเหลวของการพัฒนาแบบดั้งเดิมที่ผ่านมา นอกจากจะทำลายสิ่งแวดล้อม ชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณแล้ว ยังพบว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ ได้สร้างปัญหาให้กับความเป็นอยู่ของมนุษย์ และวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างมหาศาล เนื่องจากรัฐบาลไม่รับผิดชอบ ไม่ฉับไวต่อการตอบสนองความต้องการของประชาชน ระบบราชการมีคอร์รัปชันสูง ขาดประสิทธิภาพ ไม่มีความโปร่งใส ฯลฯ

นานาชาติจึงได้ประชุมร่วมกันเพื่อแสวงหาแนวคิดที่เป็นกลางที่สุดมาเยียวยา ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ผลสรุปที่ได้คือ ทั่วโลกควรปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเสียใหม่ โดยจะต้องยกเลิกการพัฒนาซึ่งรัฐเป็นผู้ชี้นำและออกคำสั่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ในลักษณะ รัฐประชาชาติ (Nation State) โดยปรับเปลี่ยนเป็น ประชารัฐ (Civil State) ซึ่งเป็น “ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างรัฐกับประชาชนในลักษณะที่เป็นประชาสังคม”

ประชาสังคม หรือ Civil Society คือ การพัฒนาที่เกิดขึ้นจากความริเริ่มของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน โดยทุกฝ่ายในสังคมต่างให้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน คำว่า “ ประชารัฐ ” จึงหมายถึง รัฐซึ่งมีรัฐบาล เอกชน และประชาชนร่วมมือกันในทุกเรื่องที่เป็นสาธารณะ นั่นเอง

ดังนั้น การที่แนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนจะสำเร็จลงได้หรือไม่อย่างไรนั้น ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญ รัฐบาลในหลายๆ ประเทศจะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ จากที่เคยมองว่ารัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน รัฐบาลจึงสามารถควบคุมและครอบงำประชาชนให้ปฏิบัติตามคำสั่งได้ มาเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือชุมชนมีส่วนร่วม ทั้งในระดับการร่วมรับรู้การตัดสินใจขององค์กรของรัฐ และในระดับการร่วมตัดสินใจ และจะต้องมีการตกลงกันให้ชัดเจนว่าสัดส่วนของบทบาทภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการพัฒนานั้นควรจะเป็นลักษณะใด หรือที่เรียกว่า “ประชารัฐ” นั่นเอง

และเพื่อให้การพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถแทรกเข้าไปในทุกส่วนของสังคมโลก เมื่อเริ่มต้นทศตวรรษที่ 1980 องค์การสหประชาชาติ จึงเสนอให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบความล้มเหลวในการพัฒนาตามที่กล่าวมาข้างต้น เร่งปฏิรูประบบเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมือง การบริหาร การศึกษา การขจัดและลดความยากจน การส่งเสริมให้มีการบูรณาการทางการผลิต ทางการเกษตร การสร้างงาน ที่พอเพียงกับการเติบโตของประชากร การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และการลดอัตราการขยายตัวของประชากร ฯลฯ โดยนำระบบการจัดการที่ดี มาใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อให้การพัฒนามีภาพของอนาคตที่เป็นรูปธรรม วิธีการดังกล่าวนั้นเรียกว่า ธรรมาภิบาล ธรรมรัฐ การสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี หรือ Good Governance

โดยความหมายของ “ Good Governance ” นี้ แต่เดิมธนาคารโลก หรือ World Bank ได้ให้คำนิยามไว้ว่า หมายถึง “ลักษณะและวิถีทางของการใช้อำนาจรัฐในการจัดการทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อการพัฒนา”

ส่วน Commission on Global Governance ได้ให้คำนิยามคำว่า “Governance” ไว้ในเอกสารชื่อ Our Global Neighbourhood ว่า หมายถึง ผลลัพธ์ของการจัดการกิจกรรม ซึ่งบุคคลและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชนมีผลประโยชน์ ได้กระทำลงในหลายทิศทาง โดยมีลักษณะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การผสมผสานผลประโยชน์ที่หลากหลายและขัดแย้งกันได้ ด้วยการร่วมมือกันจัดการในเรื่องนั้น



วิธีการจัดการดังกล่าว UNDP ได้นำเสนอไว้ 7 ประการ โดยกล่าวไว้ว่า องค์ประกอบทั้ง 7 ประการต่อไปนี้ ควรถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาของประเทศโลกที่ 3 ซึ่งได้แก่

1. ประชาชนจะต้องยอมรับในความชอบธรรมของรัฐบาล (Legitimacy) และ รัฐบาลจะต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนในกิจการที่ได้กระทำลงไป (Accountability)

2. ประชาชนจะต้องมีอิสระเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และในการมีส่วนร่วม (Freedom of Association and Participation)

3. จะต้องมีกรอบแห่งกฎหมายที่ชัดเจน และเป็นระบบที่ก่อให้เกิดสภาวะที่มั่นคง เป็นหลักประกันต่อชีวิตและการทำงานของพลเมือง รวมทั้งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อผู้ประกอบการ และเกษตรกร นอกจากนี้ กฎหมายจะต้องปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเสมอหน้ากัน ทั้งนี้โดยกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ จะต้องเปิดเผยเป็นที่รู้กันล่วงหน้า ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มีวิธีการที่ประกันการบังคับใช้กฎหมาย การตัดสิน ข้อขัดแย้งต้องเป็นการตัดสินใจโดยฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระและเชื่อถือได้ รวมถึงจะต้องมีกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ได้ เมื่อหมดประโยชน์ ใช้สอย

4. ระบบราชการจะต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินกิจการต่างๆ (Bureaucratic Accountability) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการงบประมาณของรัฐซึ่งจะต้องมีการควบคุม ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานทั้งของรัฐและบุคลากร เพื่อป้องกันมิให้ใช้ทรัพยากรโดยมิชอบ ทั้งนี้จะต้องมีความโปร่งใส (Transparency) ในการปฏิบัติราชการทุกระดับ

5. จะต้องมีข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ โดยรัฐบาลจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เช่น ด้านรายได้ประชาชาติ ดุลการชำระเงิน สภาพการจ้างงาน และดัชนีค่าครองชีพเป็นต้น

6. จะต้องมีการบริหารงานภาครับอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

7. จะต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกับองค์กรของประชาสังคม ซึ่งหมายถึง องค์กรประชาชน (People's organization) และองค์กรอาสาสมัครเอกชน (NGOs)

องค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้นเป็นมิติใหม่ของการจัดการพัฒนาโดยเน้นคนเป็นศูนย์กลาง เป็นแนวทางที่ทุกส่วนในโลกจะต้องผนึกกำลังให้เป็นกระแสหลัก โดยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโลกทัศน์ของผู้นำทุกระดับ (ทั้งภูมิภาค ชาติ ชุมชน) ไปเป็น แบบพหุนิยมองค์รวม (Holistic Pluralism) ด้วย มิใช่เอกนิยมองค์รวม

สำหรับประเทศไทย นักคิด นักวิชาการ ได้ร่วมกันเปิดเวทีความคิด แถลง และตีความแนวคิดเรื่องธรรมรัฐ จนกระทั่งถูกนำไปกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 - 2544) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประชารัฐ ได้อาศัยหลักคิดดังกล่าวเป็นแนวทางสำคัญในการประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์สำคัญ ในการพัฒนาสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการเน้นสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน การพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐ และระบบราชการ ให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้

และหากพิจารณาประกอบกับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี 2540 แล้ว จะพบว่า “หลักธรรมรัฐ” ได้ถูกบรรจุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องต่างๆ เช่น การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการให้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มี เสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีตามแนวทางธรรมรัฐ (Good Governance)

จนกระทั่งสำนักงาน ก.พ. ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ประชุม เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 ลงมติเห็นชอบวาระแห่งชาติ สำหรับการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง จัดทำแผน และโครงการในการปรับปรุงงานที่รับผิดชอบให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล
ซึ่ง หลักธรรมาภิบาล 6 ประการ ตามแนวทางของสำนักงาน ก.พ. ได้แก่
- หลักนิติธรรม
- หลักคุณธรรม
- หลักความโปร่งใส
- หลักการมีส่วนร่วม
- หลักความรับผิดชอบ
- และหลักความคุ้มค่า
และให้สำนักงาน ก.พ. รวบรวมและประเมินผลเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป


แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาจะต้องอยู่ในพื้นฐานหลักการที่เรียกว่า " ความยุติธรรมระหว่างคน 2 ยุค " หรือแนวคิดของ การพัฒนาที่ยั่งยืน มุมมองของมนุษย์จะต้องปรับเปลี่ยน ให้เปิดกว้างยอมรับความจริงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่จะติดตามมาจาก การกระทำ ของตน มนุษย์จะต้องประสานแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ จริยศาสตร์ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเป็นข้อกำหนด ทั่วไปขึ้นโดยเริ่มต้นจากการปูพื้นฐานความรู้ทางด้านนิเวศวิทยา และระบบนิเวศสร้างความ เข้าใจถึงปฎิสัมพันธ์ในระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง และปฎิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ต่อจากนั้นจึงชี้ให้เห็นถึง หลักการ ถ่ายทอดพลังงาน โดยการกินต่อกันเป็นทอดๆ และวัฏจักรของสสาร ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการทำให้สสาร และพลังงาน สามารถหมุนเวียน ในระบบนิเวศ ก็จำเป็นจะต้องสร้างให้เกิดเป็นความคิดรวบยอดขึ้น ในระบบความคิดพร้อมจะนำไปเชื่อมโยงกับ ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาที่ยั่งยืน ประสบผลสำเร็จความหมายของ การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทั่วไปหมายถึง การพัฒนาเพื่อบรรลุถึงความต้องการของมนุษยชาติในปัจจุบัน (โดยเฉพาะคนยากจน) ขณะเดียวกันก็ จะต้องไม่เป็นลดทอน หรือเบียดบังโอกาศที่จะบรรลุความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย
ความจำเป็นในการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน
1. ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีพื้นฐานด้านเกษตรกรรม ประเทศไทยเคยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ซึ่งมีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับปัญหาความต้องการพลังงาน และเป็นสาเหตุของการทำลายสภาพแวดล้อม ในขณะที่รูปแบบการบริโภคพลังงานของคนไทยในปัจจุบัน ก็นำไปสู่ความไม่ยั่งยืน จะเห็นได้จากในภาคอีสาน การเพิ่มขึ้นของความต้องการพลังงานนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรง เช่น การต่อต้านโครการเขื่อนปากมูล ในจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจาก ผลกระทบของโครงการทำให้จำนวน และพันธ์ปลาในแม่น้ำมูลซึ่งทำให้แหล่งอาหารที่สำคัญมากของคนในภาคอีสานใต้ลดต่ำลงอย่างมาก

2. แม้ว่าจะมีการประสบการณ์ที่เป็นปัญหาในหลายด้าน ภาคอีสานยังคงอยู่ในสถานะที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบพลังงานและรูปแบบการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ซึ่งคำนึงถึงวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ฟืนพบได้ในหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วภาคอีสาน และพลังงานทดแทนอื่น ๆ ควรจะได้รับการพิจารณาและศึกษาอย่างจริงจัง หากสามารถพัฒนาระบการจัดการให้มีประสิทธิภาพแล้ว แหล่งพลังงานทดแทนจะเป็นแนวทางสำคัญสำหรับความยั่งยืนในภาคอีสาน
แนวคิดและการปฏิบัติของการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน
การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนประกอบด้วยหลัก 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
ในแง่มุมทางเศรษฐกิจ การพัฒนาพลังงานยั่งยืน หมายถึง การสร้างผลประโยชน์จากพลังงานใหมากที่สุดโดยจะต้องรักษาทุนของสังคมไว้ (ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์) ในแง่มุมด้านสิ่งแวดล้อมการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเน้นการรักษาเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ทั้งทางชีวภาพ และกายภาพ จากการผลิตและการใช้พลังงาน และในแง่มุมด้านสังคม การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องรักษาความมั่นคงของสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งการลดความขัดแย้งในสังคมที่มีสาเหุตมาจาก การผลิตและการใช้พลังงาน โดยสรุปแผนพัฒนาพลังงานยั่งยืนจะครอบคลุมหัวข้อทั้งสาม โดยเน้นการสร้างผลประโยชน์จากพลังงานที่มากที่สุด โดยคงระดับทรัพยากรที่มีอยู่ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสังคมและวัฒนธรรมน้อยที่สุด
นอกจากนี้ ภายใต้แนวคิดทั้งสามประการของพลังงานยั่งยืน ควรจะพิจารณามุมมองห้าประการนี้ด้วย ได้แก่
1) การพัฒนาพลังงานยั่งยืน ควรอยู่บนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยี และระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดผลประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด
2)การพัฒนายั่งยืนควรอยู่บนพื้นฐานของการใชัพลังงานทดแทนจากแหล่งทรัพยากรภายในประเทศซึ่งสามารถมั่นใจในแหล่งทรัพยากรและส่งผมให้เกิดการบำรุงรักษาแหล่งทรัพยากรอีกด้วย นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้ว การใช้พลังงานทดแทนทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยกว่า
3)การผลิตและการใช้พลังงาน ซึ่งครอบคลุมถึงเทคโนโลยีและระบบการจัดการ จะต้องไม่ทำลายระบบนิเวศน์ สังคมและวัฒนธรรม
4)ถ้าในอนาคตไม่สามารถหลีกเลี่ยงผมกระทบเหล่านี้ได้ ผู้ที่ก่อมลพิษก็ต้องเป็นผู้จ่ายเงินเนื่องจากตนเองได้รับผลประโยชน์ โดยใช้หลักการผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย
มุมมองทั้ง 4 ข้อนี้ จะชลอหรือแม้กระทั่งสามารถลดอัตราการเจริญเติบโตของการผลิตพลังงาน การเปลี่ยนรูปพลังงาน เทคโนโลยีของการใช้พลังงาน แลุะการลงมือปฏิบัติที่ไม่พึงปรารถนา ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการจ่ายค่าชดเชยจากผู้ที่ได้รับประโยชน์ไปสู่ประชาชน ครัวเรือน ชุมชนหรือระบบนิเวศน์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการผลิตและการใช้พลังงาน จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเหล่านี้ รวมถึงรักษาความเท่าเทียมกันในสังคมไทยด้วย

5)การจัดตั้งกลไลเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน และเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาความมั่นคงของสังคมและวัฒนธรรมในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง ที่มีสาเหตุมาจากการผลิต การเปลี่ยนรูป และการบริโภคพลังงาน

การแก้ปัญหาความขัดแย้ง (Conflict Resolution)

สำหรับพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงนั้น จะเริ่มจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารแล้วแสดงออกโต้ตอบกันไปมา จนเกิดเกลียวแห่งความขัดแย้ง (Spiral of Conflict) ที่ต่างคนต่างมีปฏิกิริยาตอบโต้กัน โดยจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดกลายเป็นความขัดแย้งที่มีความรุนแรง ซึ่งถ้าไม่สามารถยุติวงจรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้นั้น ก็จะนำไปสู่การทำลายล้างกัน เอาชนะคะคานกัน หรือ ที่เรียกว่า ความขัดแย้งแบบทำลายล้าง (Destructive Conflict) ส่วนทางออกของความขัดแย้งนั้นจะขึ้นอยู่กับแนวทางที่ต่างฝ่ายต่างเลือก ซึ่งพฤติกรรมเพื่อหาทางออกเมือเกิดความขัดแย้งนั้นใน ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ได้จำแนกออกเป็น (หนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ของ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 180 - 182)

- การแข่งขันหรือวิธีของฉัน (Competing or My Way): พฤติกรรมแนวนี้จะยึดถือความพยายามที่จะเอาชนะ มักจะเป็นวิธีการของผู้ที่มีอำนาจที่จะใช้อำนาจทุกวิถีทาง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น

- การหลีกเลี่ยงหรือยอมถอย (Avoiding or No Way): เป็นพฤติกรรมที่พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาหรือยอมถอย ซึ่งจะพบมากในกลุ่มประเทศเอเชีย และกลุ่มประเทศลาตินอเมริกัน

- การประนีประนอมหรือแบ่งคนละครึ่ง (Compromising or Half War): เป็นวิธีที่ประสานการร่วมมืออย่างหนึ่ง หรือที่เรารู้จักกันดีคือ การเดินสายกลาง

- การยอมตามหรือแล้วแต่ผู้ใหญ่ (Accommodating or Your Way): เป็นพฤติกรรมที่สังคมชอบปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นไปที่การรักษาความสัมพันธ์สูง มีความต้องการที่จะผลักดันความพยายามของตนเองน้อย ยอมรับแนวความคิดของคนอื่นโดยยกเลิกความต้องการของตนเอง คือ ยอมรับเชื่อฟังคำตัดสิน หรือคำสั่ง

- การร่วมมือกันหรือวิธีการของเรา (Collaborating or Our Way): เป็นพฤติกรรมที่ทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะหาทางบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน เป็นการประสานประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์

ส่วนกระบวนการในการจัดการความขัดแย้งสามารถนำเสนอได้ตามตารางที่ 1 โดยผลของการตัดสินใจที่เป็นลักษณะ ชนะ-ชนะ (Win-Win) จะเกิดจาก การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง และ การเจรจาไกล่เกลี่ย

ถ้าคู่พิพาทเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาผลที่ได้จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ และอีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ อย่างไรก็ดี หลาย ๆ คนมักจะมีความเชื่อว่า ความรุนแรงจะช่วยยุติความขัดแย้งได้ เช่น การทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐ ฯ ที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ เพราะต้องการให้สงครามในภาคพื้นแปซิฟิกยุติโดยเร็ว และลดการสูญเสียนาวิกโยธินของตนเองในการขึ้นยึดเกาะญี่ปุ่น แต่ความรุนแรงมักจะไม่ใช่คำตอบเสมอไป เช่น ยุทธการเสรีภาพยั่งยืน (Operation Enduring Freedom) ของสหรัฐ ฯ ที่นำกำลังบุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน เพื่อตามล่า บินลาดิน และล้มล้างรัฐบาลตอลีบาน ซึ่งสหรัฐ ฯ สามารถล้มล้างตอลีบานได้แต่ ความขัดแย้งยังไม่ได้ยุติ เพราะทุกวันนี้สหรัฐ ฯ ต้องคงกำลังไว้ที่อัฟกานิสถาน และทหารสหรัฐ ฯ เองก็ยังมีการสูญเสียอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับ ยุทธการปลดปล่อยชาวอิรัก (Operation Iraqi Freedom) หรือที่รู้จักกันในชื่อ สงครามอ่าวภาค 2 ที่สหรัฐ ฯ ยุติสงครามลงภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ความรุนแรงยังคงมีอยู่ในอิรักตลอดเวลาจนมาถึงทุกวันนี้

ถึงตรงนี้คงมีคำถามตามมาว่าแล้ว “อะไรคือสันติวิธี” ดร.มาร์ค ตามไท ได้กล่าวถึงสันติวิธีไว้ว่า “สันติวิธีนั้นมีอยู่สองลักษณะคือ สันติวิธีในการต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการและสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง” (อ้างถึงในหนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ของ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 101 - 103) โดยมีรายละเอียดดังนี้

- สันติวิธีในการต่อสู้หรือเรียกร้อง (Peaceful Demonstrate/Protest): แนวทางในการต่อสู้นี้เป็นแนวทางที่ถูกนำมาใช้ เมื่อ เกิดความไม่พอใจหรือมีความเห็นไม่สอดคล้องกับผู้ที่มีอำนาจ มีการดำเนินการในลักษณะของการประท้วง หรือ การเรียกร้อง หรือการต่อสู้โดยการยื่นหนังสือขอเข้าพบ หรือ การชุมนุมกันเพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย หรือ แสดงออกถึงความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ โดย สงบ สันติ ไม่มีอาวุธ การต่อสู้ในแนวทางนี้จะมีชื่อเรียกกันว่า “การดื้อแพ่ง” (Civil Disobedience) ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางทีมีต้นแบบจากแนวทางการต่อสู่แบบ “อหิงสา” ของ มหาตมคานธี ในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของอินเดีย

- สันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง (Peaceful Conflict Resolution): สำหรับแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ใช้ในการแก้ปัญหาหลักจากที่ความขัดแย้งหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นแล้ว และพยายามที่จะยุติความขัดแย้งโดยการใช้แนวทางที่สันติ ซึ่งแนวทางที่เด่นชัดที่สุดได้แก่ การเจรจาไกล่เกลี่ย (Negotiation) กันเองระหว่างคู่พิพาท หรือ โดยมีคนกลางซึ่งเป็นบุคคลที่สาม (เป็นบุคคลเพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้) ช่วยในกระบวนการไกล่เกลี่ยและไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินชีขาดแต่จะเป็นผู้กำกับการเจรจาให้ดำเนินไปได้อันจะนำไปสู่ทางออก คือการยุติความขัดแย้ง

จากที่กล่าวมาจะพบว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดจะเป็นการเจรจาไกล่เกลี่ย และ การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง เพราะผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นไปในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างชนะ (Win-Win) ซึ่งการไกล่เกลี่ยนั้นมีหลายรูปแบบ แต่ที่จะพบเห็นได้บ่อยครั้งคือ

- การเจรจาโดยยึดจุดยืน (Position-based Negotiation): การเจรจาในลักษณะนี้จะเป็นการเจรจาที่จะเอาแพ้ชนะเอาชนะกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนของตนเอง คู่เจรจาจะปฏิบัติต่อกันเหมือนเป็นศัตรูกัน ความเชื่อของการเจรจานี้จะเป็นลักษณะ Zero Sum Game ตามแนวคิดในทฤษฏีเกม (Game Theory) ที่ถ้าไม่แพ้ก็ต้องชนะ ผลของการเจรจาเช่นนี้มักยอมรับครึ่งทาง (Compromise) แต่การเจรจาในลักษณะนี้ไม่ควรจะนำมาใช้ในกรณีของความขัดแย้งในนโยบายสาธารณะ

- การเจรจาโดยยึดผลประโยชน์ (Interest-based Negotiation): การเจรจาในลักษณะนี้ไม่มองถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่จะมองและทำความเข้าใจของความต้องการ ความห่วงกังวลของฝ่ายอื่น การเจรจาลักษณะนี้จะเกิดจากคู่เจรจาทุกฝ่ายมาร่วมกัน แก้ปัญหา เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันโดยหวังให้ความต้องการของทุกฝ่ายได้รับการตอบสนอง ทุกฝ่ายจะไม่ระบุถึงจุดยืนของตนเอง แต่จะบอกถึง ความหวัง ความต้องการ ความห่วงกังวล ความหวาดระแวง

การทำความเข้าใจในเรื่องของความขัดแย้งและการยุติด้วยสันติวิธี เป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะนวัตกรรมต่าง ๆ ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในที่สุด ดังเช่นสถานการณ์ปัจจุบัน เราคงต้องยอมรับว่าบ้านเมืองของเราไม่เคยมีการแตกแยกทางความติดอย่างนี้มาก่อน ดังนั้นถ้าแกนนำของแต่ละฝ่ายมองไปยังผลประโยชน์ของประเทศชาติ มากกว่าผลประโยชน์ของตนเองแล้ว ผมเชื่อว่าเราคงผ่านวิกฤตการณ์ตรงนี้ไปได้ ประเทศไทยไม่ได้ขึ้นกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่บุคคลทุกภาคส่วนต่างหากคือผู้ที่จะนำพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้า ประชาธิปไตยนั้นเสียงส่วนใหญ่ (Majority Rule)

ความยุติธรรมในสังคม (Social justice)

มนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่เป็นสังคม การที่อยู่ร่วมกันก็ย่อมมีการประพฤติปฏิบัติต่อกันและกัน รวมทั้งมนุษย์แต่ละคนย่อมมีแนวปฏิบัติของตนเองว่า จะกระทำอะไร อย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร โดยธรรมชาติมนุษย์มีแนวโน้มที่จะใฝ่หาความสุข ความสบาย หลีกหนีความทุกข์ยาก ความลำบาก และโดยธรรมชาติมนุษย์อาจจะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเลวร้ายหรืออย่างเอารัดเอาเปรียบ หากว่าตนเองจะได้รับประโยชน์หรือความสุขความสบายเป็นเครื่องตอบแทนถ้าทุกคนปฏิบัติเช่นนั้นสังคมก็จะยุ่งเหยิงวุ่นวายที่สุดแล้วก็คงไม่มีใครที่จะอยู่ได้อย่างสุขสงบ

ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีกฏเกณฑ์ร่วมกัน การที่จะให้ผู้อื่นเคารพสิทธิของตนเองและไม่เบียดเบียนตนเอง ตนก็ต้องเคารพสิทธิของผู้อื่นและไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตนเองอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนเองอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้นต่อผู้อื่น

ปราชญ์ในสมัยกรีกโบราณเช่น โสเครตีส เพลโต และอริสโตเติ้ลต่างก็พยายามหาคำตอบที่ว่า อะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต? ความดีคืออะไร? และมนุษย์ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร? เอาอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าดี? ความดีนั้นเป็นสากลหรือไม่ หรือความดีจะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมทางสังคมแต่ละยุคสมัย? ความยุติธรรมคืออะไรและใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน?

ความยุติธรรมเป็นแม่แบบของแนวทางต่างๆ เป็นแนวทางในเกณฑ์การตัดสิน ซึ่งมีกฏหมายเป็นเครื่องมือในการทำหน้าที่ ความยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดเพราะการที่คนเราจะกำหนดว่าอะไรคือความดี แล้วความดีกับความชั่วต่างกันตรงไหนเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์กันอย่างละเอียด

โสเครตีสเชื่อว่าถ้าเราไม่สามารถหาคำนิยามของคุณธรรมเหล่านี้ได้ เราก็จะไม่สามารถมีความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมได้ และการตัดสินว่าการกระทำหนึ่งมีความยุติธรรม หรือกล้าหาญ ฯลฯ หรือไม่ ย่อมปราศจากหลักเกณฑ์ที่น่าเชื่อถือ

คุณแม่คนนึงแบ่งเค้กให้ลูกแฝดทั้งสองคน คุณแม่แบ่งให้ลูกคนที่โตกว่าไม่กี่ชั่วโมง น้อย กว่าอีกคนคนโต บอกคุณแม่ไม่ยุติธรรม ถึงผมจะแก่กว่าไม่กี่ชั่วโมงก็ไม่ใช่ว่าผมจะได้เค้กน้อยกว่า(สมมติฮะสมมติ)แล้วคุณคิดว่าความยุติธรรมคืออะไรการแบ่งครึ่งๆ อย่างเท่ากัน หรือเปล่า...ขณะที่พี่คนโตกว่าบอกไม่ยุติธรรม ส่วนคนน้องว่ามันยุติธรรมดีแล้วหรือความยุติธรรมก็คือเรื่องของผลประโยชน์?

ความยุติธรรม คือ ยุติ และ ธรรม ตีความตามตัวอักษรได้ว่า เป็นธรรมอันนำไปสู่ความยุติ คือจบลงแห่งเรื่องราวJohn Lawl กล่าวไว้ว่า Justice is conditions of fair equality of opportunity

ในความเห็นราบูคิดว่าความยุติธรรมก็เหมือนกับประชาธิปไตยคือ ความคิดเห็นของคนส่วนมากที่มีความคิดเห็นอย่างเดียวกัน ผลประโยชน์ที่ได้รับคือผลประโยชน์ที่กลุ่มคนได้รับเหมือนกัน คิดว่าเหมือนผลประโยชน์ของส่วนรวมนั่นแหละ แน่นอนว่าบางครั้งความยุติธรรมมันต้องขัดกับผลประโยชน์ของคนกลุ่มๆนึง

ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้มีกฎหมายบังคับใช้ในสังคม ถ้าคนไหนทำผิดตามหลักเกณฑ์ของสังคมนั้นจะมีบทบัญญัติในการลงโทษ ซึ่งคนส่วนมากเห็นด้วยกับหลักการข้อนี้ ตัวอย่างเช่น คนที่ขโมยของถูกปรับ ฯลฯ นั่นคือความยุติธรรมของสังคม

ความยุติธรรมเป็นตัวกำหนดทิศทางของสังคม ซึ่งความยุติธรรมของแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น หากสังคมหนึ่งทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า การขโมยของเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ถือว่ายุติธรรม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความยุติธรรมที่เป็นที่นิยมมากที่สุดเป็นความยุติธรรมที่ต้องอยู่คู่กับ คุณธรรมและจริยธรรม ที่เป็นเครื่องช่วยในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้อง และเหมาะสม แล้วความยุติธรรมแบบไหนที่คนส่วนมากจะยอมรับ

แนวคิดที่ยึดหลักคุณธรรม หรือคุณงามความดี (virtue)
อริสโตเติ้ลกล่าวว่า มนุษย์ทุกคนจะต้องเลือกเองว่าจะทำอะไรซึ่งดีสำหรับตนเอง และในขณะเดียวกันก็ดีสำหรับผู้อื่นด้วย ในการเลือกต้องใช้หลักของคุณธรรมมากกว่าที่เลือกตามความพอใจของตนเอง คุณธรรมสามประการที่อริสโตเติ้ลเน้นได้แก่

temperance (การรู้จักควบคุมตน, การข่มใจ,การรู้จักพอ),courage (ความกล้าหาญ) ความกล้าหาญคือการเลือกตัดสินใจด้วยเหตุผลถึงแม้จะตระหนักถึงอันตรายที่อยู่ข้างหน้า ผู้ที่มีความกล้าหาญไม่ใช่ผู้ที่ปราศจากความกลัว แต่เลือกกระทำด้วยความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่กระทำคือความถูกต้อง ไม่ใช่กล้าบ้าบิ่นขาดการไตร่ตรองด้วยปัญญา

justice (ความยุติธรรม) นั่นคือมนุษย์ทุกคนควรปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเท่าเทียมกันเหมือนที่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนเอง

จริยธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฏศีลธรรม (1) ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ethic ซึ่งหมายถึง system of moral principles, rules of conduct (2) คำว่า ethic มีรากศัพท์มาจากคำว่า ethos ในภาษากรีกซึ่งหมายถึงข้อกำหนดหรือหลักการประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้อง และตรงกับคำในภาษาลาตินว่า mores ซึ่งต่อมากลายเป็นคำว่า morality ในภาษาอังกฤษ ( 3 )

คำว่า จริยศาสตร์ หมายถึง ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยความประพฤติและการครองชีวิตว่า อะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกหรืออะไรผิด หรืออะไรควรอะไรไม่ควร (1) ตรงกับคำว่า ethics ในภาษาอังกฤษ

แนวความคิดเรื่องประโยชน์ส่วนรวม ( Utilitarianism)

เมื่่่่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคมใหญ่ก็จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งว่า pleasure ของใครจะสำคัญกว่ากัน?คำถามเหล่านี้ได้รับการอธิบายโดยแนวความคิดที่ว่า การกระทำที่นำประโยชน์สูงสุด แก่จำนวนคนที่มากที่สุด และให้ประโยชน์ได้นานที่สุด คือแนวทางปฏิบัติของมนุษย์

ความยุติธรรมมีจริงหรือไม่ ? ความยุติธรรมนั้นเมื่อเราแยกจากหมวดหมู่ของคำ ก็จะรู้ว่า คำว่าความยุติธรรมนั้น เป็นนามธรรม(abstract noun) คือไม่มีตัวตนจับต้องไม่ได้ ตามหลักวิทยาศาสตร์จะขออธิบายดังนี้ ความยุติธรรมนั้นจับต้องไม่ได้ ความยุติธรรมมีจริงเพราะเป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเงื่อนไขไปสู่ข้อยุติของปัญหานั้นๆ ความยุติธรรมสัมผัสได้ แต่สัมผัสได้ด้วยใจ(mind)เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนเพราะว่าจิตใจ (mental) ของคนเราไม่เหมือนกัน

ความหลากหลาย (Diversity)

ความหลากหลาย (Diversity) ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจการยอมรับ และตระหนักในความหลากหลายทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ สังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งความหลากหลาย ทางชีวภาพตลอดจนผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

ความหลากหลายทางชีวภาพ ( Biological Diversity ) หมายถึง การมีชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดมาอยู่ร่วมกัน ณ สถานที่หนึ่งหรือระบบนิเวศใดระบบนิเวศหนึ่ง ซึ่งสามารถจัดแบ่งความหลากหลายทางชีวภาพ ได้เป็น3 ลักษณะ คือ
1.ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ ( species diversity ) หมายถึงความหลากหลายของชนิดของสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆนักชีววิทยาวัดความหลากหลายของชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โดยดูจาก 2 ลักษณะ คือ
1.1. ความมากชนิด (species richness) หมายถึง จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตต่อ
หน่วยเนื้อที่ เช่น ประเทศเมืองหนาวในพื้นที่หนึ่งๆมีต้นไม้อยู่ประมาณ 1 – 5 ชนิด
ขณะที่ป่าในประเทศเขตร้อนในพื้นที่เท่ากันมีต้นไม้นับร้อยชนิด เป็นต้น


1.2. ความสม่ำเสมอของชนิด (species eveness) หมายถึง สัดส่วนของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศหนึ่งๆ ดังนั้นความหลากหลายทางชนิดพันธุ์จึงสามารถวัดได้จากจำนวนของสิ่งมีชีวิตและจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดรวมถึงโครงสร้างของอายุ และเพศของประชากรด้วยความหลากหลายของชนิดพันธุ์จะแตกต่างกันไปตามพื้นที่พื้นที่ที่อยู่ในเขตร้อน(tropics) และในทะเลลึกจะมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สูงและความหลากหลายของชนิดจะลดลงในพื้นที่ที่มีความผันแปรของอากาศสูง เช่น ในทะเลทรายหรือขั้วโลก หรืออาจกล่าวได้ว่าในบริเวณเขตร้อนในแถบละติจูดต่ำ (low lattitude) ใกล้เส้นศูนย์สูตรจะมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สูงและจะลดลงเมื่ออยู่ในแถบละติจูดสูง (high lattitude)

2.ในระบบนิเวศหนึ่งๆ จะประกอบด้วยกลุ่มสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด แม้ในสิ่งมีชีวิตเดียวกันก็ยังมีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดสายพันธุ์ต่างๆ อันเป็นรากฐานสำคัญที่เอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตสามารถดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ได้สืบไป ความหลากหลายของพันธุกรรม ( genetic diversity ) หมายถึงความหลากหลายของหน่วยพันธุกรรมหรือยีน(genes) ที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันอามียีนแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์เช่น ข้าวซึ่งมีสายพันธุ์มากมายหลายพันชนิด เป็นต้น





ความแตกต่างผันแปรทางพันธุกรรมในแต่ละหน่วยชีวิตมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม (mutation)อาจเกิดขึ้นในระดับยีน หรือในระดับโครโมโซมผสมผสานกับการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติได้น้อยมาก และเมื่อลักษณะดังกล่าวถูกถ่ายทอดไปยังรุ่นลูก จะทำให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรม เช่นแมวที่มีลักษณะรูปร่างหลากหลายที่แตกต่างกัน เป็นต้น

3.ความหลากหลายของระบบนิเวศ ( ecolosystem diversity ) หมายถึง สภาวะแวดล้อมที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆรวมไปถึงสิ่งไม่มีชีวิตอื่นๆ ซึ่งจัดเป็นปัจจัยทางกายภาพ ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น ดิน น้ำเป็นต้นระบบนิเวศแต่ละระบบเป็นแหล่งของถิ่นที่อยู่อาศัย(habitat)ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆซึ่งมีปัจจัยทางกายภาพและชีวภาพที่เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดในระบบนิเวศนั้นสิ่งมีชีวิตบางชนิดมีวิวัฒนาการมาในทิศทางที่สามารถปรับตัวให้อยู่ได้ในระบบนิเวศที่หลากหลายแต่บางชนิดก็อยู่ได้เพียงระบบนิเวศที่มีภาวะเฉพาะเจาะจงเท่านั้นความหลากหลายของระบบนิเวศขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศ


ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cultural diversity) เป็นความเชื่อที่ค่อนข้างตรงกันในหมู่นักมนุษยวิทยาว่า มนุษย์มีกำเนิดในทวีปแอฟริกาเมื่อประมาณ 2 ล้านปีมาแล้ว จากนั้นได้เริ่มกระจายตัวไปทั่วโลก ประสบความสำเร็จในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย และบ่อยครั้งที่ต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดจากภัยพิบัติร้ายแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ทั้งในระดับพื้นถิ่นและระดับทั่วโลก สังคมที่แยกจากห่างกันที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ของโลกมีความแตกต่างกันชัดเจน และความแตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรมยังคงมีความต่อเนื่องสืบมาถึงปัจจุบัน

แม้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม หรือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมระหว่างหมู่ชนจะยังคงมีอยู่ เช่นความแตกต่างทางภาษา การแต่งกายและประเพณีก็ตาม

แต่ในความแตกต่างที่หลากหลายในสังคมต่างๆ ก็ยังปรากฏให้เห็นความคล้ายในตัวของสังคมที่หลากหลาย คือแนวคิดทางศีลธรรมและวิธีที่กลุ่มชนในสังคมมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม

โจ เนลสันจากแสตมฟอร์ด เวอร์จิเนียเป็นผู้ทำให้วลี "วัฒนธรรมและความหลากหลาย" เป็นที่รู้จักแพร่หลายในช่วงที่เขาอยู่ในแอฟริกา เป็นที่ถกเถียงกันว่าความแตกต่างเหล่านี้ เป็นเพียงสิ่งมนุษย์สร้างที่เกิดขึ้น

ตามธรรมดาอยู่แล้วตามรูปแบบของการย้ายถิ่นของมนุษย์ ไปในที่ต่างๆ หรือว่านี่คือตัวการที่เป็นหัวใจของของการสืบสายพันธ์ในช่วงวิวัฒนาการ ที่ทำให้สายพันธุ์ของมนุษย์ประสบความสำเร็จมากกว่าสัตว์พันธุ์อื่นๆ

ด้วยการเทียบเทียบแนวกับ "ความหลากหลายทางชีวภาพ" ที่เชื่อกันว่ามีความสำคัญยิ่งยวด ต่อการมีชีวิตรอดในระยะยาวของทุกชีวิตบนโลก ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ย่อมมีความสำคัญยิ่งต่อการอยู่รอดในระยะยาวของมวลมนุษยชาติด้วย

นั่นคือ การอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้ย่อมมีความสำคัญเท่าๆ กันกับกับการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ และระบบนิเวศเพื่อให้สิ่งมีชีวิตบนโลกโดยรวมอยู่ได้

สิทธิมนุษยชน (Human Rights)

สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีสิทธิที่กฏหมายกำหนดและสิทธิที่ไม่ระบุไว้เป็นกฏหมาย

ความหมายของสิทธิมนุษยชน
หมายถึง สิทธิที่ทุกคนมีอยู่ในฐานะเป็นมนุษย์ ทั้งสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในส่วนบุคคลและสิทธิในการอยู่ร่วมกันในสังคม สิทธิในความเป็นมนุษย์นั้น มีทั้งสิทธิตามกฏหมายและสิทธิที่มีอยู่โดยไม่ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของกฏหมาย แต่เป็นสิทธิที่เกิดจากมาตรฐานเพื่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม หรือความยุติธรรม แต่เดิมสิทธิมนุษยชนจะกล่าวถึงในชื่ออื่น เช่น สิทธิในธรรม สิทธิในธรรมชาติ เป็นต้น

สิทธิมนุษยชนจะครอบคลุมสิทธิต่างๆ ในการดำรงชีวิตของมนุษย์เพื่อให้มีชีวิตที่ดีในสังคมดังนี้

-สิทธิในชีวิต ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้และได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยได้รับการตอบสนองตามความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ทุกชีวิตล้วนมีคุณค่าด้วยกันทั้งสิ้น ไม่วาจะเป็นบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อการดำรงชีวิตอยู่เป็นพิเศษจากผู้อื่น เช่น คนพิการ คนชรา ฯลฯ ดังนั้นทุกคนควรปฏิบัติต่อบุคคลด้อยโอกาส ให้ความสำคัญ ให้โอกาสและให้ความช่วยเหลือตามสมควร เพื่อให้ทุกชีวิตมีความเท่าเทียมกันมากที่สุด
-สิทธิในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเองตามแนวทางที่ถูกต้อง คนในสังคมต้องให้โอกาสกับคนที่เคยกระทำไม่ถูกต้อง ให้โอกาสคนเหล่านี้ได้รับการอบรมแก้ไขและพัฒนาตนเองใหม่ ให้สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น
-สิทธิในการยอมรับนับถือ หมายถึง การที่บุคคลพึงปฏิบัติต่อกันด้วยการยอมรับซึ่งกันและกัน ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีและคุณค่าของชีวิตด้วยความเท่าเทียมกัน


ประเทศไทยได้เข้าร่วมรับรอง "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ดังนั้นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงได้กำหนดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกคนตระหนักในความสำคัญของสิทธิมนุษยชน และเป็นแนวทางปฏิบัติต่อกันในฐานะเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน โดยตระหนักว่าทุกคนมีสิทธิในชีวิต มีสิทธิในการยอมรับนับถือ และมีสิทธิในการดำรงชีวิตและพัฒนาตนเองตามแนวทางที่ถูกต้อง


บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา ประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกสิบคน ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

-เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
-ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสมอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคล หรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าว เพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
-ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
-ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชน

สรุปได้ว่า ทุกคนมีสถานภาพและบทบาทของตนเอง บุคคลต้องแสดงบทบาทให้สอดคล้องประสานกับสถานภาพของตนเอง
นอกจากนี้ทุกคนยังมีสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ต้องปฏิบัติซึ่งกฎหมายจะกำหนดไว้ ทุกคนควรให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อจะได้ปกป้องคุ้มครองตนเองและผู้อื่นให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข


การละเมิดสิทธิมนุษยชน
แม้ว่าจะได้มีการให้สัตยาบันตามปฏิญญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อที่จะปกป้องคุ้มครองพลเมืองในแต่ละประเทศให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกันก็ตาม ก็ยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ปรากฏอยู่ตลอดเวลา เช่น หลายประเทศยอมให้มีการตรวจสอบ ว่าได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นในประเทศของตน เช่น อิสราเอลที่ยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และอีกหลายประเทศจากการสำรวจเมื่อปี 1994 องค์กรเอกชนที่มีชื่อว่า Amnesty International (องค์การอภัยโทษนานาชาติ) พบว่าในปี ค.ศ1993 นั้นใน 53 ประเทศมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก กล่าวคือ มีการกักขังนักโทษทางการเมือง หรือที่ขยายความให้มีขอบข่ายกว้างขวางมากกว่าเดิมคือ นักโทษแห่งจิตสำนึกที่แตกต่างออกไป มีเกินกว่า 1,000,000 คน ที่เสียอิสรภาพโดยไม่มีข้อกล่าวหาหรือไม่นำขึ้นไปสู่การพิพากษาในศาลสถิตยุติธรรม


ตัวอย่างในยุโรปคือ การสังหารโหดในบอสเนีย เฮอร์เซโกวินาจนต้องแยกออกมาจากยูโกสลาเวีย ในปี ค.ศ.1992 มีประชากร 4.6 ล้านคน เป็นคนมุสลิม ร้อยละ 44 ชาวเซอร์บ ร้อยละ 31 ชาวโครท ร้อยละ 17 นอกจากนั้นเป็นเชื้อชาติอื่น (ประเด็นการสู้รบคือ ชาวเซอร์บต้องการสร้างรัฐอิสระเชื้อชาตินิยมขึ้นมา)
ในทวีปเอเชียนั้นได้มีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีจำนวนประชากรมาก (จีนมีมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก 1200 ล้านคน ) อันดับสอง คือ อินเดีย ประมาณ 950 ล้านคน


ตัวอย่างในกัมพูชา อัฟกานิสถาน จีน อินโดนีเซีย (กรณีติมอร์ตะวันออก)
ในอินเดียมีปัญหาศาสนาในแคชเมียร์และปันจาบ ส่วนในพม่า หรือเมียนม่า (Myanmar) มีปัญหากับชนกลุ่มน้อย 27 กลุ่ม
ในกลุ่มประเทศอเมริกากลางและอเมริกาใต้ก็มีปัญหามาก เช่น ในบราซิล เอลซัลวาดอร์ เปรู เม็กซิโก และคิวบา
นอกเหนือจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาลหรือกลุ่มทางสังคมและการเมืองแล้วยังมีการละเมิดภายในครอบครัว และกลุ่มหรือหน่วยทางเศรษฐกิจอีกด้วย ภายในครอบครัวมีกรณีการละเมิดสิทธิเด็ก หรือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว การกักขังหน่วงเหนี่ยวหรือบังคับให้ทำงานมากเกินขอบเขตในโรงงานต่างๆ ก็มีปรากฏอยู่เสมอ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในโรงงานของคนไทยในมลรัฐแคลิฟอเนีย และผู้ตกเป็นเหยื่อคือคนไทยด้วยกันเอง


สิทธิมนุษยชนของผู้ใช้แรงงาน
โลกทุกวันนี้ก้าวสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ได้เชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน ทุนนิยมโลกพัฒนาจากทุนนิยมผูกขาดในอาณาเขตของประเทศหนึ่ง มาสู่ทุนนิยมครอบโลกที่มีบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่สามารถแผ่ขยายอิทธิพลไปทุกขอบเขตของทุกประเทศได้อย่างง่ายดาย เสมือนหนึ่งโลกนี้ไร้พรมแดนหรือปราศจากอาณาเขต

การแข่งขันการค้า การลงทุน ระหว่างประเทศเป็นไปอย่างดุเดือด กระแสเสรีนิยมใหม่และการค้าเสรีกลายเป็นกระแสหลักที่ทะลุทะลวงไปทุกแห่งหน แต่ละประเทศกำลังไล่ล่าและไล่กวดแสวงหาความได้เปรียบหรือความเหนือกว่า เพื่อความยิ่งใหญ่และเพื่อการครอบครองโลกในทุกมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม

"โลกาภิวัฒน์" ได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนของบรรษัทข้ามชาติ และทำให้ประเทศต่างๆ มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน องค์กรโลกบาล อย่างเช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก และองค์การค้าโลก ถูกกำหนดและบงการโดยบรรษัทข้ามชาติในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้มีอิทธิพลกำหนดทิศทางความเป็นไปของสังคมโลก โดยมีรัฐบาลในประเทศด้อยพัฒนาทำการเปิดประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมบนเส้นทางการค้าเสรี

"โลกาภิวัฒน์" ไม่เพียงแต่จะเป็นการเอื้ออำนวยให้บรรษัทข้ามชาติสามารถเคลื่อนย้ายการลงทุนเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดจากสิทธิพิเศษด้านต่างๆ และแรงงานราคาถูกแล้ว ยังได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงานที่มีลักษณะยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น สามารถกดขี่ขูดรีดผู้ใช้แรงงานได้มากยิ่งขึ้น สิทธิมนุษยชนและสวัสดิการสังคมที่เกิดจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการแรงงานถูกบั่นทอนจนกระทั่งถูกทำลายลงไป

รูปแบบการกดขี่เยี่ยงทาส ถูกยกระดับให้กลายเป็นสิ่งชอบธรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ ภายใต้เหตุผลของกรอบความคิดของการค้าเสรี โลกาภิวัฒน์จึงเป็นเพียงมิติเดียวทางด้านเศรษฐกิจของกลุ่มบรรษัทข้ามชาติ

ด้วยเหตุนี้ ขบวนการสหภาพแรงงาน องค์กรสิทธิมนุษยชน ในประเทศต่างๆ จึงได้นำเสนอและผลักดันให้มี มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมขึ้นในระดับสากล ซึ่งถือว่าเป็นอีกมิติหนึ่งของโลกาภิวัฒน์ทางด้านสังคมและทางด้านจริยธรรมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานเกี่ยวกับหลักจรรยาบรรณการค้า (Code of Conducts) การผลักดันให้องค์การค้าโลกจัดทำเงื่อนไขทางสังคม (Social Clause ) การให้สัตยาบรรณรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ILO Conventions) เป็นต้น

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization:ILO) เป็นองค์การสากลที่มีบทบาทในการยกระดับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2462 เป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์การเดียวที่ยืนหยัดมาได้กว่า 85 ปี ทั้งๆ ที่องค์การที่ตั้งคู่กันมาคือ สันนิบาตชาติถูกยกเลิกไปและเมื่อมีการก่อตั้งสหประชาชาติขึ้น องค์กรแรงงานนี้จึงกลายเป็นองค์กรชำนาญพิเศษองค์กรแรกของสหประชาชาติ

ปัจจุบัน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และ มีสำนักงานภูมิภาคตามทวีปต่างๆ ช่น ในเอเชียแปซิฟิค มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย นับได้ว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้พัฒนายกระดับความก้าวหน้าในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง มีอนุสัญญาและข้อแนะจำนวนมาก ที่ทำให้รัฐประเทศองค์กรสมาชิกนำไปยกระดับมาตรฐานแรงงานในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น

แต่พอมาถึงยุคโลกาภิวัฒน์ในทุกวันนี้ มาตรฐานแรงงานกำลังถูกลดทอนและถูกทำลายลงตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การจ้างงานเหมาช่วง การเลิกจ้าง และการทำลายสหภาพแรงงาน ทั้งนี้ได้พัฒนารูปแบบใหม่ของการจ้างงานที่ซ่อนเร้นและมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

การกำหนดให้มีมาตรฐานแรงงานระหว่าประเทศนั้น ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะให้ฝ่ายคนงานได้เรียกร้องส่วนแบ่งที่ยุติธรรม จากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ เพราะความจริงในทุกวันนี้ก็คือ การค้าเสรีนำมาสู่ความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับบรรษัทข้ามชาติในขณะที่ผู้ใช้แรงงานยากจนอดอยากเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นช่วงเวลาที่สภาวะความเป็นทาสกำลังหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆ ที่โลกทุกวันนี้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากทีเดียว

อนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ถือเป็นอนุสัญญาหลัก ตามคำประกาศขององค์การแรงงานระหว่างประเทศก็คือ ฉบับที่87 ว่าด้วยเสรีภาพการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ฉบับที่ 98 ว่าด้วยเสรีภาพการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 29 และ 105 ว่าด้วยการใช้แรงงานบังคับและการยกเลิกการใช้แรงงานบังคับ ฉบับที่ 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนสำหรับงานเหมือนกัน ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการกำจัดการเลือกปฏิบัติในการอาชีพและการจ้างงาน ฉบับที่ 138 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำการทำงาน

อนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ เป็นเพียงหลักปฎิบัติในลักษณะการจูงใจให้องค์กรรัฐของแต่ละประเทศปฎิบัติตาม แต่ไม่ได้มีกลไกเชิงบังคับหรือมีกลไกการลงโทษ หากเกิดการละเมิดหรือการไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ เพียงแต่เป็นเวทีทางสากลที่รัฐบางประเทศอาจถูกตั้งคำถาม ถูกประณามหรือถูกตำหนิจากที่ประชุมได้ ดังนั้นไอ แอล โอ จึงมีอิทธิพลในด้านของการส่งเสริม สนับสนุน มากกว่าการแทรกแซงหรือการกดดันโดยตรง

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของไอ แอล โอ จึงมุ่งเน้นการพูดคุยทางสังคม (Social Dialog) การให้สัตยาบรรณ (Ratification) การให้ข้อแนะนำ (Recommendations) การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและทางเทคนิค

โครงสร้างของ ไอ แอล โอ เป็นแบบไตรภาคี ประกอบไปด้วย ตัวแทนฝ่ายคนงาน ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล และตัวแทนฝ่ายนายจ้าง โดยมีการประชุมในเดือนมิถุนายนของทุกปี มีประเทศสมาชิกอยู่ 178 ประเทศ

รัฐบาลไทย เข้าเป็นภาคีสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์การนี้เมื่อปี 2462 มีอนุสัญญาที่ตราขั้นแล้ว 185 ฉบับ และข้อแนะนำอีก 194 ฉบับ ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกเป็นเวลา 85 ปีแล้ว แต่ให้สัตยาบรรณรับรองเพียง 13 ฉบับเท่านั้น คือฉบับที่ 80 ,116, 104 , 105 ,127 , 14, 19 , 123, 29 ,88 ,122 , 100 , 182

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 138 คืออนุสัญญาว่าด้วยอายุขั้นต่ำที่ยอมให้จ้างงานหรือทำงานชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัยหรือศีลธรรมของเยาวชน จะต้องกำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี

ในขณะที่อนุสัญญาหลักจำนวนมาก รัฐบาลไทยยังไม่ให้การรับรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัว และการเจรจาต่อรอง ซึ่งถือเป็นหัวใจในหลักประกันสิทธิเสรีภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความก้าวหน้าด้านประชาชิปไตยของประเทศนั้นๆ มี 142 ประเทศที่ให้การรับรองฉบับที่ 87 และ 154 ประเทศที่ให้การรับรองฉบับที่ 98 สำหรับในภูมิภาคเอเชียนั้น ประเทศต่างๆ ที่ให้การรับรองอนุสัญญาทั้งสองฉบับแล้ว อาทิ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ปากีสถาน และบางประเทศที่ให้การรับรองเฉพาะฉบับที่ 98 เช่น มาเลยเซีย สิงคโปร์ หรือพม่า ให้การรับรองเฉพาะฉบับที่ 87 เป็นต้น

ค่านิยมและการสัมผัสรับรู้ (Values & Perceptions)

ค่านิยม (Value) ความหมายทางด้านการบริหาร หมายถึง เป็นความเชื่อทีถาวรเกี่ยวกับสิ่งซึ่งเหมาะสม และไม่ใช่สิ่งซึ่งแนะนำพฤติกรรมของพนักงานให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ค่านิยมอาจอยู่ในรูปของการกำหนดความคิดเห็น (Ideology) และเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในแต่ละวัน

ประเภทของค่านิยม
Phenix ใช้หลักความสนใจและความปรารถนาของบุคคลแบ่งค่านิยมออกเป็น 6 ประเภท คือ
1. ค่านิยมทางสังคม (Social Values) เป็นค่านิยมที่ช่วยให้เกิดความรักความเข้าใจและ ความต้องการของอารมณ์ของบุคคล
2. ค่านิยมทางวัตถุ (Material Values) เป็นค่านิยมที่ช่วยให้ชีวิตร่างกายของคนเรา สามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป ได้แก่ ปัจจัยสี่ คืออาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และยารักษาโรค
3. ค่านิยมทางความจริง (Truth Values) เป็นค่านิยมเกี่ยวกับความจริงซึ่งเป็นค่านิยมที่ สำคัญยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการความรู้ และนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการค้นหากฎของธรรมชาติ
4. ค่านิยมทางจริยธรรม (Moral Values) เป็นค่านิยมที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบชั่วดี
5. ค่านิยมทางสุนทรียะ (Aesthetic Values) เป็นความซาบซึ้งใจในความดีและความงาม ของสิ่งต่างๆ
6. ค่านิยมทางศาสนา (Religious Values) เป็นค่านิยมที่เกี่ยวกับความปรารถนาความ
สมบูรณ์ของชีวิต รวมทั้งความศรัทธา และการบูชาในทางศาสนาด้วย จากประเภทต่างๆ ของค่านิยมข้างต้น ค่านิยมความรัก คู่ครอง และการแต่งงาน ที่ศึกษาใน การวิจัยครั้งนี้เป็นค่านิยมที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพทางสังคมวัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ค่านิยมที่ศึกษาเป็นค่านิยมที่ศึกษาเป็นค่านิยมทางสังคมและทางจริยธรรม

หน้าที่ของค่านิยม
สุนทรี โคมิน และสนิท สมัครการ กล่าวถึง หน้าที่ของค่านิยม 7 อย่างไว้ดังนี้
a.ค่านิยมจูง (Lead) เป็นค่านิยมที่ช่วยให้บุคคลได้แสดงจุดยืนของตนในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสังคมออกมาอย่างชัดเจน
b.ค่านิยมเป็นตัวช่วยกำหนด (Predispose) ให้บุคคลนิยมอุดมการณ์ทางการเมืองบางอุดมการณ์มากกว่าอุดมการณ์อื่น
c.ค่านิยมเป็นบรรทัดฐานที่ช่วยนำ (Guide) การกระทำให้ทำบุคคลประพฤติ และแสดงตัวต่อผู้อื่นที่ประพฤติเป็นปกติอยู่ทุกวัน
d.ค่านิยมเป็นบรรทัดฐานที่ใช้ในการประเมิน (Evaluate) ตัดสินการชื่นชมยกย่อง การตำหนิ ติเตียนตัวเอง และการกระทำของผู้อื่น
e.ค่านิยมเป็นจุดกลางของการศึกษา กระบวนการเปรียบเทียบกับผู้อื่น
f.ค่านิยมเป็นบรรทัดฐานที่ถูกใช้ในการชักชวน (Persuade) หรือสร้างประสิทธิผลต่อคนอื่น
g.ค่านิยมเป็นบรรทัดฐานที่ถูกใช้เป็นฐาน (Base) สำหรับกระบวนการให้เหตุผลต่อความนึกคิด และการกระทำของตน


การรับรู้ คือ การตีความหรือแปลความหมายข้อมูล (กระแสประสาท) จากการสัมผัส ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าสิ่งที่มาสัมผัสนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร ในการตีความหรือแปลความหมายนี้ต้องอาศัยการจัดหมวดหมู่ของสิ่งเร้า ประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ผ่านมา อารมณ์ และแรงจูงใจ เช่น เรามองเห็นจุดดำ ๆ จุดหนึ่งอยู่ลิบ ๆ บนท้องฟ้า (การสัมผัส) เรายังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ต่อเมื่อจุด ๆ นั้นเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ จนมองเห็นชัด เราจึงรู้ว่าที่แท้จริง ก็คือนกตัวหนึ่ง (การรับรู้) นั่นเอง หรือถ้าเราเห็นรูป เราจะรับรู้ทันทีว่า คือรูป สี่เหลี่ยม ( ) เพราะเราจัดหมวดหมู่โดยพิจารณาถึงรูปที่สมบูรณ์ของ นั่นเอง การจัดหมวดหมู่ของสิ่งเร้ามีหลายลักษณะเช่น จัดโดยอาศัยความคล้ายคลึงกัน จัดโดยอาศัยความต่อเนื่อง เป็นต้น การจัดหมวดหมู่ของสิ่งเร้านี้ช่วยให้เราแปลความหมาย (รับรู้) ได้ถูกต้องรวดเร็วขึ้น การรับรู้ของคนเรามีหลายชนิด ดังต่อไปนี้

1. การได้ยิน เราสัมผัสคลื่นเสียงทางหูแล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้น จนรับรู้ว่าเป็นเสียงอะไร และเรายังสามารถบอกตำแหน่งทิศทางและระยะทางของแหล่งกำเนิดเสียงได้อีกด้วย

2. การมองเห็น เราสัมผัสคลื่นแสงจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ทางนัยน์ตาแล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้นจนรับรู้ว่าสิ่งเร้าที่เห็นนั้นคืออะไร

3. การได้กลิ่น เราสัมผัสโมเลกุลของไอที่ระเหยมาจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ทางจมูกแล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้นจนรับรู้ว่าเป็นกลิ่นอะไร เหม็น หอม เน่า หรือ กลิ่นเครื่องเทศ

4. การรู้รส เราสัมผัสสิ่งเร้าบางอย่างโดยลิ้น แล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้นจนรับรู้ว่าสิ่งเร้านั้นมีรสอะไร หวาน เค็ม หรือขม เป็นต้น

5. การรับรู้ทางผิวกาย เราสัมผัสสิ่งเร้าที่มากระตุ้นผิวกาย แล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้นจนรับรู้เราว่าสัมผัสอะไร นอกจากนี้ยังรู้ถึงอุณหภูมิและความเจ็บปวดที่เกิดจากการสัมผัสอีกด้วย

6. การรับรู้ความรู้สึกภายในของร่างกาย ได้แก่การรับรู้ตำแหน่งหรือการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่าง ๆ โดยไม่ต้องอาศัยอวัยวะสัมผัสทั้ง 5 ข้างต้น เช่น ถึงแม้หลับตาเราก็สามารถตักอาหารใส่ปากได้ถูกต้อง เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากเรารับรู้ว่าปาก แขน มือ ฯลฯ ของเราอยู่ตำแหน่งใดเราจึงทำเช่นนั้นได้ การรับรู้นี้เกิดจากการแปลความหมายของสภาวะกล้ามเนื้อ เอ็น หรือข้อต่อต่าง ๆ ขณะยืดตัว หดตัวหรือคลายตัว เป็นสำคัญ การรับรู้ความรู้สึกภายในของร่างกายอีกชนิดหนึ่ง คือการทรงตัว ทำให้เราทราบว่าร่างกายเรากำลังอยู่ท่าไหนอยู่ในตำแหน่งที่สมดุลหรือไม่ ถ้าไม่ก็พยายามปรับเข้าสู่สมดุลต่อไป มิฉะนั้นจะรู้สึกคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรืออาเจียนได้

ความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship)

ความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship)

-พลโลกมีความเหมือนและความแตกต่างกัน หลายด้าน เช่น สถานที่อยู่อาศัย ภาษา ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ภาษา ชีวิตความเป็นอยู่
- สันติสุขจะดำรงอยู่ได้ ต้องอาศัยการพัฒนาการอยู่ร่วมกันหลายด้าน เช่น การติดต่อสื่อสาร การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การค้า และการร่วมกิจกรรมในระดับนาๆ ชาติ อื่นๆ

- พลโลกจะอยู่ร่วมโลกกันอย่างสันติสุขได้ ต้องเข้าใจ ยอมรับ และเรียนรู้ ความเหมือนและความแตกต่างกัน

- โลกจะดำรงอยู่ได้ พลโลกต้อง "ร่วมมือกันรักษ์โลก"
โลกจะดำรงอยู่ได้ พลโลกต้องร่วมมือกันรักษ์โลกสันติสุขจะดำรงอยู่ได้ ต้องอาศัยการพัฒนาการอยู่ร่วมกันหลายด้าน เช่น การติดต่อสื่อสาร การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การค้า และการร่วมกิจกรรมในระดับนาๆ ชาติอื่นๆ เช่น CCAD พลโลก จะอยู่ร่วมโลกกันอย่างสันติสุขได้ ต้องเข้าใจ ยอมรับ และเรียนรู้ ความเหมือนและความแตกต่างกัน

-พลโลกมีความเหมือนและความแตกต่างกัน หลายด้าน เช่น สถานที่อยู่อาศัย ภาษา ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ภาษา ชีวิตความเป็นอยู่